ทฤษฎีการบังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcement Theory)
มีหลักการ คือ การใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบออกตรวจท้องที่ มีการจัดสายตรวจแบบต่างๆและเขตตรวจ เน้นการปรากฏตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อลดช่องโอกาสในการกระทำผิดของคนร้าย มุ่งการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องมือเครื่องใช้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการตรวจท้องที่ และหากมีเหตุ อาชญากรรมเกิดขึ้น ต้องรีบสืบสวนจับกุมให้ได้อย่างรวดเร็ว ต้องไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างและคนร้ายไม่กล้ากระทำผิด ซึ่งแนวทางนี้ถือเป็นการดำเนินการลดปัญหาอาชญากรรมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น บุคคลหรือหน่วยงานอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งคนในชุมชนเอง เป็นเพียงผู้ช่วยให้ข้อมูลหรือมีส่วนร่วมตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการเท่านั้น
ทฤษฎีตำรวจชุมชนสัมพันธ์ (Police Community Relation Theory)
มีหลักการคือเน้นการติดต่อสื่อสารสร้างความเข้าใจให้กับชุมชนและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน เพื่อให้ชุมชนให้ความร่วมมือแจ้งข่าวหรือเบาะแสอาชญากรรมมากขึ้น
ทฤษฎีควบคุมอาชญากรรมจากสภาพแวดล้อม (Crime Control Through Environmental Design)
หลักการนี้เป็นแนวทางการป้องกันอาชญากรรมที่เชื่อว่าสภาพแวดล้อมทางกายภาพและทางสังคมถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่มีผลต่อปัญหาอาชญากรรมในชุมชน โดยหลักการแล้วเราสามารถวางแผนเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือออกแบบสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งสภาพแวดล้อมรูปธรรมและนามธรรม เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมได้ โดยทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบุคคลหรือทรัพย์โดยง่าย อันเป็นการปิดกั้นหรือลดช่องโอกาสในการก่อเหตุของคนร้าย
ทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน (Community Policing)
หลักการนี้เป็นแนวคิดในการป้องกันอาชญากรรมแนวใหม่ที่เชื่อว่า ตำรวจกับประชาชนทำงานร่วมกันโดยใช้ความริเริ่มสร้างสรรค์ ย่อมสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม ความรู้สึกหวาดกลัวภัยอาชญากรรม ตลอดจนสภาพการไร้ระเบียบและความเสื่อมโทรมทางสังคมและทางกายภาพในชุมชนต่าง ๆได้ การที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้นั้นหน่วยงานตำรวจจะต้องเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสุจริตชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนนั้น ๆ โดยเปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เสนอแนะในการจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของปัญหา และร่วมพัฒนาศักยภาพความเป็นอยู่โดยรวมของชุมชน หรืออีกนัยหนึ่ง หลักการตำรวจผู้รับใช้ชุมชน เป็นหลักการการทำงานของตำรวจซึ่งส่งเสริม สนับสนุน แก้ต้นเหตุเพื่อลดปัญหาอาชญากรรม ปัญหาความไม่เป็นระเบียบของชุมชน โดยใช้เทคนิคการแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา ด้วยความร่วมมือ ระหว่างตำรวจและชุมชน
ทฤษฎีหน้าต่างแตก (Broken Windows Theory)
หลักการนี้เป็นทฤษฎีที่สอดคล้องกับทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน เป็นแนวความคิดที่นำมาประยุกต์ใช้กับการป้องกันอาชญากรรมในชุมชน โดยมีแนวคิดพื้นฐานว่า หากปล่อยให้หน้าต่างบ้านหรือรถยนต์แตกเสียหายโดยไม่มีการซ่อมแซม คนทั่วไปก็จะคิดว่าเจ้าของไม่สนใจ ต่อมาก็จะมีคนขว้างหรือทำลายกระจกบานอื่นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งบ้านเรือนหรือรถยนต์เสียหายชำรุดทรุดโทรมมาก ยากต่อการซ่อมแซมให้กลับไปสู่สภาพเดิม ดังนั้นเมื่อหน้าต่างแตกแม้เพียงเล็กน้อยก็ต้องรีบซ่อมแซม
เมื่อนำมาเทียบเคียงกับปัญหาอาชญากรรมในชุมชน เช่น หากเกิดปัญหาความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย(Disorder) ปัญหาความสกปรกหรือปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตในชุมชน (Quality Of Life Problems)แล้วปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีใครสนใจ ชุมชนนั้นจะยิ่งเสื่อมโทรมลงไปเรื่อย ๆ แล้วจะก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมหรือยาเสพติดตามมาภายหลัง ดังนั้น การแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ต้องสนใจจัดการปัญหาความเดือดร้อนของชุมชน ปัญหาความไร้ระเบียบและปัญหาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนด้วย ถ้าชุมชนใด มีความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย ก็จะทำให้ปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติดลดลงไปด้วย
0 comments:
Post a Comment