Monday, December 28, 2015


ความหมายของอาชญากรรม

อาชญากรรม (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542) หมายถึง  การกระทำความผิดทางอาญา โดยอาชญากรรมเป็นพฤติกรรมที่ละเมิดต่อกฎหมายบ้านเมือง ผู้กระทำผิดจะต้องได้รับโทษ ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 มีหลักการว่า บุคคลจักต้องรับโทษทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นต้องเป็นที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเช่นความผิดฐานลักทรัพย์ยักยอกทรัพย์ปล้นทรัพย์
การแบ่งประเภทอาชญากรรมได้มีนักอาชญาวิทยาอยู่หลายกลุ่มได้จำแนกประเภทของอาชญากรรมไว้เพื่อประโยชน์ในการอธิบายลักษณะที่แตกต่างกันโดยสามารถจัดเป็น 3 กลุ่มดังนี้

1. กลุ่มแรก จำแนกอาชญากรรมเป็น 9 ประเภท ได้แก่ 
          1) อาชญากรรมประเภทที่ใช้ความรุนแรงประทุษภัยต่อชีวิตและร่างกาย (Violent Personal Crime) เช่นการประทุษร้ายต่อบุคคลการใช้อาวุธทำร้ายร่างกายบุคคลอื่น 
          2) อาชญากรรมประทุษร้ายต่อทรัพย์สินเป็นครั้งคราว (Occasional Property Crime) เช่น การลักทรัพย์การขโมยรถยนต์การทำให้เสียทรัพย์
          3) อาชญากรรมประเภทที่ใช้ตำแหน่งหน้าที่การงานเป็นช่องทาง (Occasional Crime) เช่น
การทุจริตในหน่วยงานหรือบริษัทของตนเองโดยการแสวงหาช่องทางและโอกาสในการประกอบอาชญากรรม 
          4) อาชญากรรมทางการเมือง (Political Crime) เช่น การวางระเบิดสถานที่สำคัญการจี้เครื่องบินการจับตัวประกัน 
          5) อาชญากรรมประเภทที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม (Public Order) เช่น พวกค้ายาเสพติดกลุ่มผู้ค้าประเวณี 
          6) อาชญากรรมประเภททั่วไป (Conventional Crime) เช่นการฉกชิงวิ่งราวการทะเลาะเบาะแว้งและการทำร้ายร่างกายกันเล็ก ๆ น้อย ๆ
          7) อาชญากรรมประเภทมืออาชีพ (Professional Crime) เช่น กลุ่มคนที่ประกอบอาชีพโดยวิธีการผิดกฎหมายในขณะที่ผู้อื่นประกอบอาชีพโดยสุจริต 
          8) อาชญากรรมองค์กร (Organized Crime) เช่น พวกแก๊งมาเฟีย แก๊งอิทธิพลอยู่เบื้องหลังนักการเมือง เป็นอาชญากรองค์กรที่ยากแก่การทำลาย
          9) อาชญากรรมข้ามชาติ (Transnational Crime) เช่นองค์กรอาชญากรที่สนองความต้องการสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย

2. กลุ่มที่สอง แบ่งประเภทของอาชญากรรม โดยจัดเป็น 4 กลุ่ม คือ 
          1) อาชญากรรมรุนแรง (Violent Crimes) 
          2) อาชญากรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์ (Property Crimes) 
          3) อาชญากรรมคอปกขาวอาชญากรรมองค์การและอาชญากรรมเศรษฐกิจ (White Collar Crime, Organized Crime, and Economic Crime) 
          4) อาชญากรรมที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยทางสังคม (Public Order Crime)

3. กลุ่มที่สาม เป็นการจำแนกประเภทอาชญากรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์สถานภาพอาชญากรรมโดยได้แบ่งอาชญากรรมออกเป็น 5 ประเภท ตามลักษณะคดี ได้แก่ 
          1) คดีอุกฉกรรจ์และสะเทือนขวัญ ประกอบด้วย คดีฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์และวางเพลิง 
          2) คดีประทุษร้ายต่อชีวิตร่างกายและเพศ ประกอบด้วย คดีฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา กระให้ผู้อื่นตามโดยประมาท พยายามฆ่าทำร้ายร่างกาย และข่มขืนกระทำชำเรา 
          3) คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ ประกอบด้วย คดีปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ลักทรัพย์ รีดเอาทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ ทำให้เสียทรัพย์และรับของโจร 
          4) คดีที่น่าสนใจเป็นคดีที่สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนอย่างมาก ประกอบด้วย คดีโจรกรรมรถยนต์ โจรกรรมรถจักรยานยนต์และลักทรัพย์ในเคหะสถาน 
          5) คดีที่รัฐเป็นผู้เสียหาย เป็นกลุ่มคดีจากผลจากปราบปรามในความผิดที่สำคัญ ประกอบด้วยอาวุธปืนและวัตถุระเบิด การพนัน ยาเสพติด การค้าประเวณี สถานบริการ

0 comments:

Post a Comment

Sample Text

Blog Archive

Powered by Blogger.

Video

Popular Posts

Our Facebook Page